17 ก.พ. 2555

ปัญหาความยากจนในสังคมไทย

ความยากจน ” ปัญหาที่ไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย

ประเทศไทยของเรานี้มีสารพัดปัญหาสังคมเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งปัญหายาเสพติด ปัญหาครอบครัว ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ฯลฯ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนและกระทบความเป็นอยู่ของคนในสังคมมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “ ปัญหาความยากจน” ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานแสนนาน
            ทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องประสบกับภาวะความยากจน อยู่ในภาวะที่ขาดแคลนไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการมีหนี้สิน ซึ่งสาเหตุของความยากจน ก็เกิดจากการไม่มีงานทำ ประชากรเพิ่มขึ้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของประชากร ความเกียจคร้านและความเฉื่อยชา ลักษณะของอุตสาหกรรม ปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมและสังคม ตลอดจนขาดการกระจายรายได้ที่เหมาะสม
            เหตุผลเหล่านี้เป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลย เพราะถ้าหากประชาชนว่างงานก็ไม่มีรายได้เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ และความยากจนยังก่อให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ  ทั้งเป็นปัญหาสังคม เช่น อาชญากรรม และยังครอบคลุมถึงขาดโอกาสทางการศึกษา การรักษาพยาบาล การไร้ซึ่งอำนาจ  และส่งผลทางด้านสุขภาพจิตของบุคคลทำให้เกิดความท้อแท้สิ้นหวังต่างๆตามมา
            จะเห็นได้ว่าปัญหาความยากจนเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญเข้ามาแก้ไขในส่วนของเศรษฐกิจและสังคม  เช่นให้การศึกษา เพราะการศึกษาจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพที่มีความก้าวหน้า ส่งเสริมในเรื่องของสุขภาพอนามัย และให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนสร้างอาชีพให้แก่ประชาน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยพื้นฐาน


ความยากจน ในสังคมไทย
             ความยากจนเป็นปัญหาสังคมไทยมานานกว่า 20 ปี  คนจนในที่นี้จึงหมายถึง คนที่มีรายได้ไม่พอต่อการยังชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีประมาณ 1 ใน 3 ของประชากร หรือประมาณ 18 ล้านคน ของประชากรทั้งหมดในช่วงนั้น หลังจากนั้นมาเศรษฐกิจก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงปี 2531 ได้ช่วยให้จำนวนคนยากจนในประเทศลดน้อยลง แต่มาในช่วงปี 2540 จนถึง ปี 2549 นั้น จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า  ประเทศไทยยังคงมีคนจนที่มีรายได้ตํ่ากว่า  1,386 บาท/เดือน  อยู่ถึงร้อยละ 10% หรือประมาณ 6 ล้านกว่าคน และหากถ้ารวมคนที่เกือบจะจน ที่มีรายได้ไม่เกิน 1,600 บาท/เดือน ด้วยแล้วยังมีอีกประมาณ 8 ล้านกว่าคน หากรวมแล้วประเทศไทยจะมีคนจนทั้งหมดเกือบ 15 ล้านคน ทั่วประเทศ
             หากวิเคราะห์ลึกลงไปจะเห็นได้ว่า ร้อยละ 80% ของคนจนดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วอาศัยอยู่บริเวณแถบภาคเหนือ และภาคอีสาน และหากถ้าดูสัดส่วนรายได้ของคนทั้ง 2 ภาคนี้ จะเห็นได้ว่ามีสัดส่วนรายได้เพียงแค่ 19% ของรายได้รวมของคนทั้งประเทศ

สาเหตุของความยากจน
สาเหตุของความยากจนสามารถแบ่งได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ
             (1. สาเหตุจากปัจจัยภายใน ได้แก่ 
                   - การมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพต่ำ เนื่องจากการขาดโอกาสในการศึกษาและพัฒนา ทักษะต่างๆ 
                   - การขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์     
                   - การมีปัญหาสุขภาพ 
                   - การมีภาระ ในการเลี้ยงดูครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ 
                   - การมีทรัพย์สินและที่ดินในการทำกินน้อย 
** ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นสาเหตุภายในบุคคลที่ทำให้บุคคลกลายเป็นคนจนได้   
             (2. สาเหตุจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ 
             นโยบายการพัฒนาที่ไม่สมดุลของภาครัฐ เช่น
                   - การเน้นพัฒนาเมืองมากกว่าพัฒนาชนบทหรือการพัฒนาชนบท
                   - การเน้นแต่ทุนทางกายภาพโดยขาดการส่งเสริมทุนทางสังคม 
                   - การเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมมากกว่าการเกษตร 
                   - การเน้นการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เพื่อการพาณิชย์โดยไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน 
                   - การเน้นเป้าหมายการเจริญเติบโต ทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าการกระจายรายได้ให้กับประชากร 
                   - การเน้นการเปิดประเทศมากเกินไปในขณะที่ยังไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบ ในด้านต่างๆ ที่ดีพอกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นตัวสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม 
                   - ระบบราชการไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา ความยากจนทั้งในแง่ขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่ซับซ้อนและล่าช้า  
                   - ความซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่าง ๆ ในขั้นตอน การปฏิบัติการ
                   - ความไม่สอดคล้องกันของแผนงานและงบประมาณในระดับต่าง ๆ 
** ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหลักจากภายนอก ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาความยากจนและซ้ำเติมคนจนมากขึ้นเช่นกัน

ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาความยากจน
             รัฐบาล ก็ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เข้ามาประสานความช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจของผู้ประสบปัญหา ด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมีข้อสรุปดังนี้
              1. การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืน, การส่งเสริมเศรษฐกิจในอาชีพเกษตรกรรม, การเพิ่มรายจ่ายภาครัฐในการจัดบริการพื้นฐานทางสังคมแก่คนจน และผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
              2. การเพิ่มศักยภาพและโอกาสของคนจน เช่น การเปิดเวทีประชาคมท้องถิ่น , การขยายเครือข่ายและศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน การถ่ายทอด, ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน, การปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเหมาะสม เป็นต้น
              3. การพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมและผู้ด้อยโอกาส เช่น การขยายขอบเขตการประกันสังคมและการมีสวัสดิการให้ครอบคลุมผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
              4. สวัสดิการโดยชุมชน เช่น การเตรียมความพร้อมในการสร้างหลักประกันทางสังคมแก่ประชากรแต่ละช่วงวัย โดยเน้นวัยชราเป็นสำคัญ
              5. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การจัดระบบของการเกษตร การประมง อย่างมีวิธีการเป็นระเบียบ
              6. การปรับปรุงระบบบริหารภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น การปรับกระบวนทัศน์และบทบาทหน่วยงานภาครัฐทั้งงหน่วยงานส่วนกลางและระดับท้องถิ่น, การจัดทำแผนงาน/โครงการที่มีลักษณะเป็นองค์รวม, ปรับปรุงระบบงบประมาณ และการจัดทำโครงการต่างๆที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาความยากจน
             
               แนวทางแก้ไขดังกล่าวนั้น ได้ต่อยอดมาจากโครงการหนึ่ง ซึ่งโครงกาที่ทุกคนนึกถึงได้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน นั่นคือ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่ทรงเน้นในเรื่องนี้โดยตรง
               เศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางการดำรงชีวิต ที่ในหลวงมีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม
               ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ที่เราได้กล่าวไว้ข้างต้น) ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่น ๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรจุใน  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ” และได้จัดทำเป็นบทความเรื่อง "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และได้นำความกราบบังคลทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2542 โดยพระองค์ทรงพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทความที่ทรงแก้ไขแล้วไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
              จากนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านที่เห็นด้วยกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
                นอกจากนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 และแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ต่อยอดโครงการเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นโครงการที่ดียิ่งในการแก้ปัญหาหนี้ ในช่วงยุคสมัยที่ผ่านมาจึงเกิดโครงการเยียวยาแก้ไขปัญหาต่างๆตลอดมา ไม่ว่าจะเป็น
             โครงการลดความยากจนในอดีต เช่น
                            - โครงการสร้างงานในชนบท
                            - โครงการพัฒนาตำบลกองทุนพัฒนาชนบท
                            - โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)
                            - โครงการพัฒนาคนจนในเมือง
                            - โครงการเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาคนจนในเมืองในภาวะวิกฤติ
                            - โครงการแก้ไขปัญหาด้านการเงินและสินเชื่อสำหรับคนจนในเมือง
                            - โครงการลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment Project)         
              โครงการลดความยากจนของรัฐบาลในปัจจุบัน เช่น
                            - โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
                            - โครงการการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี
                            - โครงการธนาคารประชาชน
                            - โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค
                            - โครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์
                เราจะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาความยากจน ในหลวงกษัตริย์ของปวงชน ท่านทรงมองการณ์ไกลในการช่วยเหลือในด้านนี้เสมอมา ทำให้เกิดการต่อยอดของโครงการ และรวมถึงหน่วยงานความช่วยเหลือต่างๆทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จึงเห็นได้ว่าสังคมไทยนั้นยังคงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาแก้ไขปัญหาความยากจนอยู่มาก
               แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คำถามในเรื่องปัญหาความยากจนในสังคมไทย ยังคงต้องได้รับการตอบสนองแก้ไขอย่างไม่มีวันจบสิ้น จึงกลายเป็นคำถามทุกยุคสมัยต่อๆไป ในการหาแนวทางแก้ไขเยียวยาปัญหาความยากจนอย่างไม่รู้จบ